Nicholas I (1796-1855)

ซาร์นิโคลัสที่ ๑ (๒๓๓๙-๒๓๙๘)

​     ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ทรงเป็นซาร์นักการทหารของจักรวรรดิรัสเซีย เสด็จขึ้นครองราชย์ขณะที่เกิดกบฏเดือนธันวาคม (Decembrist Revolt)* ในปลาย ค.ศ. ๑๘๒๕ ซึ่งทำให้พระองค์ดำเนินนโยบายการปกครองอย่างเข้มงวดและปฏิเสธการปฏิรูปต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดการจลาจลวุ่นวายในสังคมทรงพยายามสร้างรัสเซียให้เป็นรัฐวินัย (disciplined state) ที่ชนทุกชั้นต้องอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัดในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ทรง พยายามนำ "วินัยแบบรัสเซีย" (Russian Discipline) ไปใช้กับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการรักษาระบอบการปกครองแบบเก่า (old regime)

ขณะเดียวกัน พระองค์ก็ต้องการแผ่อำนาจเข้าไปในจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* จนในปลายรัชกาลก่อให้เกิดสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๖)* ซึ่งสร้างความหายนะและทำลายเกียรติภูมิของประเทศ
     ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ทรงเป็นพระราชโอรสในซาร์ปอล (Paul ค.ศ. ๑๗๙๖-๑๘๐๑)* และซารินามาเรีย เฟโอโดรอฟนา [Maria Feodorovna มีพระนามเดิมว่าเจ้าหญิงโซเฟีย โดโรเทียแห่งเวือร์ทเทมแบร์ก (Sophia Dorothea of Württemberg)] ประสูติเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๖ (ปฏิทินสากลคือวันที่ ๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๖) ณ พระราชวังซาร์สโกเอเซโล (Tsarskoe Selo) ในปลายรัชกาลซารีนา คาเทอรีนมหาราช (Catherine the Great ค.ศ. ๑๗๖๒-๑๗๙๖)* ขณะที่พระราชบิดายังดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓ และลำดับที่ ๘ ในบรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดา ๑๐ พระองค์ ทรงมีพระยศและพระนามเดิมว่าแกรนด์ดุ๊กนิโคลัส ปัฟโลวิช โรมานอฟ (Nicholas Pavlovich Romanov)
     ขณะที่ประสูติ พระเชษฐาทั้ง ๒ พระองค์ คือแกรนด์ดุ๊กอะเล็กซานเดอร์ [Alexander (ประสูติ ค.ศ. ๑๗๗๗) ต่อมาได้เสด็จขึ้นครองราชย์และเฉลิมพระนาม ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๒๕)*] และแกรนด์ดุ๊กคอนสแตนติน [Constantine (ประสูติ ค.ศ. ๑๗๗๙)] ได้ถูกซารินาคาเทอรีนมหาราชนำไปอยู่ในพระอุปการะตั้งแต่เป็นทารก โดยทรงถือว่าทั้งสองพระองค์เป็น "สมบัติของรัฐ" ซึ่งสร้างความไม่พอพระทัยให้แก่พระบิดาเป็นอันมาก ดังนั้น แกรนด์ดุ๊กนิโคลัสจึงทรงเป็น "โอรสองค์น้อย" และความหวังของพระบิดาและพระมารดาที่จะฟูมฟักและเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด ขณะมีพระชนมายุ ๔ เดือน พระบิดาก็ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ แต่ทรงครองราชย์ได้เพียง ๕ ปี ก็ถูกนายทหารกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่พอใจนโยบายการปกครองและการต่างประเทศ พระทัยที่มุทะลุโลเล และความหลงใหล ในความสำคัญของตัวเองอย่างสูง (egomania) บุกเข้าห้องบรรทมและปลงพระชนม์อย่างทารุณ
     ในรัชสมัยของซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ พระเชษฐา แกรนด์ดุ๊กนิโคลัสทรงได้รับการถวายการศึกษาจากนายพล เคานต์เอ็ม. ไอ. ฟอน ลัมบ์สดอร์ฟ (M. I. von Lambsdorff) ผู้อำนวยการโรงเรียนนายร้อยทหาร บกและอดีตข้าหลวงมณฑลคูร์ลันด์ (Courtland) ซึ่งเป็นคนเจ้าระเบียบและมีวินัยสูง การกวดขันอย่างเข้มงวดดังกล่าวทำให้พระองค์เหนื่อยล้ากับการเรียนและขาดความกระตือรือล้นที่จะเรียนรู้สิ่งอื่น ๆ แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่ฝังพระทัยคือกิจกรรมทหาร อุดมคติและการมีระเบียบวินัยที่ เคร่งครัดของทหารซึ่งจะมีผลต่อไปในอนาคตในการนำวิธีการของทหารมาใช้ในการบริหารปกครองประเทศของพระองค์ อย่างไรก็ดี การขาด ความสนพระทัยในสาขาวิชาอื่น ๆ ก็ได้สร้างความกังวลพระทัยให้แก่พระราชมารดาเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าในเวลาต่อมา แกรนด์ดุ๊กนิโคลัสจะมีพระอาจารย์ที่ถวายพระอักษรอีกหลายคน แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนพระทัยและความหลงใหลในชีวิตทหารของพระองค์ได้ แม้แต่ในยามบรรทมก็โปรดที่จะบรรทมบนเตียงทหารมากกว่าพระแท่นบรรทมที่หรูหรา
     ในปลายสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* ใน ค.ศ. ๑๘๑๔ ขณะมีพระชนมายุ ๑๘ พรรษา แกรนด์ดุ๊กนิโคลัสเสด็จไปประจำการในกองบัญชาการกองทัพรัสเซียในฝรั่งเศส แต่ไม่ทรงมีโอกาสออกสนามรบ ซึ่งสร้างความผิดหวังให้แก่พระองค์เป็นอย่างยิ่ง ต่อมา เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๔)* ทรงปราชัยในสมัยร้อยวัน (Hundred Days)* พระองค์ก็ทรงร่วมกับกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรยาตราทัพเข้ากรุงปารีส
     ภายหลังการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna)* ยุโรปได้กลับคืนสู่สันติภาพอีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ. ๑๘๑๖ แกรนด์ดุ๊กนิโคลัสทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ประพาสมณฑลต่าง ๆ ของรัสเซีย รวมทั้งการเสด็จไปเยือนปรัสเซียและอังกฤษ ณ ปรัสเซียทรงพบรักกับเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ (Charlotte) พระราชธิดาในพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๒ (Frederick William II ค.ศ. ๑๗๘๖-๑๗๙๗) ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๑๗ ได้ทรงอภิเษกสมรสกันในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ณ กรุงเบอร์ลิน เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ทรงเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนานิกายกรีกออร์ทอดอกซ์และเปลี่ยนพระนามเป็น "อะเล็กซานดรา เฟโอรอฟนา" (Alexandra Feorovna) การอภิเษกสมรสดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern)* ของปรัสเซียและราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซียตลอดจนความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศทั้งสองด้วย
     แกรนด์ดุ๊กนิโคลัสและพระชายาทรงมีพระโอรสและพระธิดาร่วมกัน ๗ พระองค์ (๓ พระองค์หลังประสูติภายหลังเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ) หลังจากแกรนด์ดุ๊กอะเล็กซานเดอร์ [ต่อมาเสด็จขึ้นครองราชย์ในพระนาม ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (Alexander II ค.ศ. ๑๘๕๕-๑๘๘๑)* พระโอรสพระองค์แรกประสูติใน ค.ศ. ๑๘๑๘ แกรนด์ดุ๊กนิโคลัสก็ทรงถอนพระองค์ออกจากพระภารกิจต่าง ๆ และการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการบ้านเมือง ยกเว้นแต่ตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลน้อยรักษาพระองค์และผู้ตรวจการกรมทหารช่าง ดังนั้น พระองค์ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่และทรงพระสำราญกับครอบครัว อย่างไรก็ดี ความสนพระทัยในกิจกรรมทหารและพระภาระหน้าที่ที่ยังทรงประกอบอยู่จึงทำให้พระองค์มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความรู้ทางทหารให้แก่ทหารอยู่ เนือง ๆ รวมทั้งการจัดตั้งโรงเรียนฝึกนายทหารขึ้นอีกหลายแห่งในรัสเซีย
     โดยความเป็นจริง แกรนด์ดุ๊กนิโคลัสในฐานะพระราชโอรสองค์ที่ ๓ ในซาร์ปอลทรงมีโอกาสน้อยที่จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ แต่ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ พระเชษฐาซึ่งอภิเษกสมรส ๒ ครั้ง ก็ไม่ทรงมีพระราชโอรสที่จะสืบราชสมบัติตามพระราชกฤษฎีกา ค.ศ. ๑๗๙๗ (Decree of 1797) ที่ให้ยกเลิกสิทธิของราชนารีและให้จัดลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ตามสิทธิของพระราชโอรส อีกทั้งแกรนด์ดุ๊กคอนสแตนติน พระเชษฐาองค์รองก็ทรงสละสิทธิในการครองราชย์เพราะใน ค.ศ. ๑๘๐๓ พระองค์ทรงหย่าขาดจากพระชายาและอภิเษกสมรสใหม่กับสตรีชั้นสูงชาวโปแลนด์ที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก การอภิเษกสมรสครั้งนี้ผิดต่อแบบแผนของราชสำนักและพระราชประเพณี ดังนั้นใน ค.ศ. ๑๘๒๒ แกรนด์ดุ๊กคอนสแตนตินจึงมีพระอักษรถึงซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ เพื่อกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งมกุฎราชกุมาร (Tsarevich) อย่างเป็นทางการ ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงเตรียมพระราชโองการเพื่อแต่งตั้งแกรนด์ดุ๊กนิโคลัสพระอนุชาองค์ถัดไปขึ้นเป็นองค์รัชทายาท แต่ก็ไม่มีคำประกาศพระบรมราชโองการนี้จนกระทั่งเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. ๑๘๒๕ ดังนั้นการสืบราชสมบัติดังกล่าวเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญในปลายรัชกาลซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ อีกทั้งแกรนด์ดุ๊กนิโคลัสก็ทรงแสดงพระองค์อย่างเปิดเผยที่จะไม่เป็นซาร์และพึงพอพระทัยที่จะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายแบบนายทหารกับครอบครัวของพระองค์ กล่าวกันว่าเมื่อแกรนด์ดุ๊กนิโคลัสทรงทราบว่าแกรนด์ดุ๊กคอนสแตนตินพระเชษฐาทูลลาออกจากตำแหน่งมกุฎราชกุมารนั้น พระองค์ ทรงโทมนัสเป็นอย่างยิ่งจนไม่อาจกลั้นน้ำพระเนตรได้
     ปัญหาองค์รัชทายาทได้กลายเป็นวิกฤตการณ์ขึ้นเมื่อซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ เสด็จสวรรคตในเดือน พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๒๕ พระอนุชาทั้ง ๒ พระองค์ คือแกรนด์ดุ๊กคอนสแตนตินและแกรนด์ดุ๊กนิโคลัสต่างปฏิเสธที่จะทำหน้าที่องค์ประมุขของประเทศ ช่วงว่างระหว่างรัชกาลได้ดำเนินไปหลายสัปดาห์ ในที่สุดแกรนด์ดุ๊กนิโคลัสก็ทรงยอมตกลงพระทัยจะเข้ารับตำแหน่งนี้แต่ทันทีที่ข่าวแพร่สะพัดออกไปก็ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในกลุ่มของสมาคมลับต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยสมาคมเหนือ (The Northern Seciety) สมาคมใต้ (The Southern Society) และสมาคมร่วมชาวสลาฟ (The United Slaves) ที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นนายทหารซึ่งต้องการปฏิรูประบอบการปกครองและสังคมของรัสเซียโดยเฉพาะการล้มล้างระบบทาสติดที่ดิน สมาคมเหนือจึงถือโอกาสปลุกระดมหมู่ทหารว่าแกรนด์ดุ๊กนิโคลัสเป็นกบฏช่วงชิงราชบัลลังก์จากพระเชษฐา การปฏิบัติการดังกล่าวจึงทำให้บรรดาทหารที่ มาชุมนุมเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณต่อซาร์พระองค์ใหม่ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเกิดการสับสน จนกลายเป็นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและเป็นชนวนเหตุของกบฏเดือนธันวาคมในวันที่ ๑๔ ธันวาคมซึ่งเป็นวันแรกที่แกรนด์ดุ๊กนิโคลัสเสด็จขึ้นครองราชสมบัติและเฉลิมพระอิสริยยศซาร์นิโคลัสที่ ๑ ทหารจำนวน ๓,๐๐๐ คนได้เดินขบวนไปยังจตุรัสซีเนต (Senate Square) เพื่อประท้วงที่จะถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระองค์ พร้อมกับกดดันให้รัฐสภาออกแถลงการณ์รับรองสิทธิของประชาชน ยกเลิกระบบทาสติดที่ดิน และให้ประกาศรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศของรัสเซีย
     ขณะที่เกิดเหตุการณ์ตึงเครียดและการประจัญหน้าระหว่างทหารที่ ก่อกบฏกับฝ่ายรัฐบาล ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ก็ทรงแสดงความกล้าหาญอย่างชายชาติทหาร โดยประทับบนม้าทรงหรือประทับยืนสู้หน้ากับกลุ่มผู้ก่อการจลาจลอย่างสงบนานนับชั่วโมง ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงพยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์รุนแรง โดยโปรดฯ ให้นายพลเคานต์เอ็ม. เอ. มีลอร์โดวิช (Count M. A. Milordovich) ผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่รักในหมู่ทหารออกไปเจรจาประนีประนอมกับกลุ่มทหารดังกล่าว แต่นายพลมีลอร์โดวิชกลับถูกยิงจนพลัดตกจากหลังม้าและได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะเดียวกัน กองทหารของแกรนด์ดุ๊กไมเคิล (Grandduke Michael) พระอนุชาองค์เล็กผู้บังคับบัญชาทหารปืนใหญ่ก็ถูกระดมยิงอย่างหนักจนต้องล่าถอย ในพลบค่ำวันเดียวกันนั้น ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ก็ทรงเห็นชอบกับรัฐบาลให้ใช้กำลังทหารและอาวุธปืนเข้าปราบปรามขบวนผู้ประท้วงอย่างทารุ ณ มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก
     ดังนั้น จากประสบการณ์ที่เลวร้ายในวันแรกในการเสด็จขึ้นครองราชย์ดังกล่าวจึงมีผลต่อนโยบายปกครองของซาร์นิโคลัสที่ ๑ เป็นอย่างมาก ตลอดรัชกาลของซาร์นิโคลัสที่ ๑ ได้มีความพยายามทุกวิถีทางที่ จะป้องกันมิให้เกิดการจลาจลและการกบฏขึ้นในรัสเซียได้อีก ความเกรงภัยจากการก่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มทหารนี้เองมีผลให้ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ทรงเหินห่างจากพสกนิกรของพระองค์ อีกทั้งไม่ทรงไว้วางพระราช หฤทัยผู้หนึ่งผู้ใด โปรดที่จะว่าจ้างชาวต่างประเทศ เช่นชาวเยอรมันเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและช่วยในการบริหารประเทศ อีกทั้งพระองค์ก็ทรงรู้สึกปีติและพอพระราชหฤทัยในความปลอดภัยที่จะใช้บุคคลเหล่านี้ มากกว่าที่จะพึ่งพาหรือหารือกับพวกขุนนางและนายทหารรัสเซีย ตลอดพระชนมชีพนั้น ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ไม่เคยทรงลืมเหตุการณ์กบฏเดือนธันวาคมที่เหล่าขุนนางและนายทหารเป็นแกนนำในการก่อความไม่สงบได้เลยส่วนในด้านนโยบายบริหารประเทศ ซาร์นิโคลัสที่ ๑ โปรดให้นำเอาระเบียบวินัยของทหารมาใช้กับพลเรือนโดยจัดตั้งรัสเซียเป็น "รัฐวินัย" โดยให้ประชาชนทุกคนมีระเบียบและรู้จักหน้าที่ของตนต่อรัฐ และต้องเชื่อฟังผู้มีอำนาจสูงกว่า นอกจากนี้ พระองค์ทรงจัดตั้งกองตำรวจ ลับ หรือที่เรียกว่า The Third Section of the Imperial Chancery ขึ้นเพื่อสอดส่องและควบคุมความเคลื่อนไหวด้านกิจกรรมของประชาชนที่ น่าสงสัยและเป็นอันตรายต่อรัฐ กองตำรวจลับซึ่งมีเคานต์เบนซ์เคนดอร์ฟ (Count Benckendorff) เป็นผู้บังคับบัญชาระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๖-๑๘๔๔ มีอำนาจเด็ดขาดในการจับผู้ต้องสงสัยมาลงโทษโดยไม่ต้องพิจารณาไต่สวน กองตำรวจลับดังกล่าวจึงสร้างความหวาดหวั่นให้แก่ประชาชนเป็นอันมาก เพราะได้มีผู้บริสุทธิ์และพวกปัญญาชนหัวก้าวหน้าเป็นจำนวนมากถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏและถูกลงโทษสถานหนักบุคคลที่ต้องระวังตัวมากเป็นพิเศษได้แก่บรรดานักเขียนนักข่าว หนังสือพิมพ์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์และปัญญาชน บุคคลเหล่านี้จะถูกห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาต ห้ามการเขียนบทความใด ๆ ที่มีลักษณะไปในทางวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล นอกจากนีh ยังมีการตรวจสอบหนังสือพิมพ์ วารสาร หรือแม้กระทั่งคำบรรยายของอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
     ส่วนบรรดาปัญญาชนที่ขัดขืนต่อนโยบายกดขี่และลิดรอนสิทธิเสรีภาพดังกล่าวก็จะถูกจับกุมคุมขังเนรเทศ หรือประหารชีวิตเป็นจำนวนมาก กล่าวได้ว่ารัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงซบเซาของวงการปัญญาชนรัสเซีย อะเล็กซานเดอร์ เฮอร์เซน (Alexander Herzen)* ปัญญาชนและนักปฏิวัติแนวความคิดนารอดนิค (Narodniks)* คนสำคัญกล่าวหาซาร์นิโคลัสที่ ๑ ว่าทรงเป็นผู้ทำลายศีลธรรมอันดีงามของประชาชน และทำจิตใจของเด็กให้เสื่อมทราม โดยการสกัดกั้นความปรารถนาดีและทำลายความคิดสร้างสรรค์ของชาวรัสเซีย ส่วนซาร์นิโคลัสที่ ๑ ทรงตอบโต้และมีพระบัญชาให้ประกาศว่านักปรัชญาและปัญญาชนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของรัสเซียในขณะนั้นทุกคนเป็นบุคคลที่ไร้สมรรถภาพ เสียสติ และห้ามเขียนบทความหรือหนังสือเพื่อตีพิมพ์อีกต่อไป
     ในสถานการณ์ที่เลวร้ายดังกล่าวนี้ สถาบันการศึกษาของรัสเซียก็มีลักษณะเสื่อมโทรม นโยบายการศึกษาเบื้องต้นของชาติยังมีลักษณะตอบสนองนโยบายการปกครองของรัฐซึ่งมีอุดมการณ์เป็นปฏิกิริยาอีกด้วยเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการระหว่าง ค.ศ. ๑๘๓๓-๑๘๔๙ คือเคานต์เอส. เอส. อูนารอฟ (Count S.S. Unarov) ผู้มีความเชื่ออย่างจริงใจว่าการศึกษาของชาติควรตั้งอยู่ในหลักการ ๓ ประการ คือ คริสต์ศาสนา นิกายกรีกออร์ทอดอกซ์ (Orthodox) ระบอบการปกครองแบบอัตตาธิปไตย (Autocracy) และลัทธิชาตินิยม (Nationality) หรืออีกนัยหนึ่งคือให้ทุกคนยึดถือแนวคิดทางศาสนาของนิกายกรีกออร์ทอดอกซ์อย่างเคร่งครัด ให้ความเคารพเทิดทูนซาร์และมอบอำนาจสิทธิขาดแต่พระองค์แด่ผู้เดียว และให้ทุกคนมีความรักและเสียสละเพื่อรัสเซีย การศึกษาของชาติจึงเน้นหนักเฉพาะในหลักการ ๓ ประการดังกล่าวนี้ ฉะนั้นเมื่อมีการนำเอาการเมืองและลัทธิศาสนามาใช้บังคับในวงวิชาการจึงทำให้การศึกษาของรัสเซียมีข้อจำกัด เช่นต่อต้านการค้นคว้าและความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และไม่มีใครกล้าแสดงความคิดเห็นที่ขัดต่อระเบียบวินัยของรัฐบาล นอกจากนี้ เคานต์อูนารอฟยังได้ออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อันมีลักษณะกีดกันมิให้ลูกของชาวนาที่ยากจนได้เข้าศึกษาเล่าเรียน กอปรกับมาตรฐานในการศึกษาในขณะนั้นต่ำมากเมื่อเทียบกับนานาประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป บรรดาโรงเรียนมัธยมเป็นจำนวนมากจึงจำเป็นต้องปิดตัวเอง
     ดังนั้น รัสเซียในรัชสมัยซาร์นิโคลัสที่ ๑ จึงมีสภาพไม่แตกต่างกับในรัชสมัยซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ หรือก่อนนั้น สิ่งที่ทรงปรับปรุงแก้ไขมีแต่ในด้านนิติบัญญัติเท่านั้น กล่าวคือ มีการรวบรวมแก้ไขกฎหมายของรัสเซียให้ทันสมัยขึ้นและเป็นผลงานเพียงชิ้นเดียวของพระองค์ที่สำเร็จก่อนเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ที่ ประชาชนในนานาประเทศในยุโรปต่างลุกฮือเพื่อเรียกร้องเสรีภาพและการปกครองตนเอง ส่วนในด้านอื่น ๆ นั้น แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สภาพความเป็นอยู่ทั่วไปของประชาชนก็ยังเหมือนเดิม พวกทาสติดดินยังคงไม่ได้รับการปลดปล่อยอีกทั้งยังมีสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ก็ไม่ทรงกล้าที่จะไปแตะต้องสถาบันทาสติดดินนี้ แม้พระองค์จะเห็นว่าเป็น "เรื่องชั่วร้าย" เพราะทรงเกรงว่าจะเป็นการก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านพระองค์จากพวกขุนนางเจ้าของที่ดินทั้งหลายได้ดังนั้น เพื่อรักษาราชบัลลังก์และเพื่อป้องกันการกบฏหรือการปฏิวัติ ซาร์นิโคลัสที่ ๑ จึงทรงละความสนพระทัยที่จะปฏิรูปสังคมรัสเซียอย่างสิ้นเชิง สภาพความเป็นอยู่ของชาวรัสเซียและทาสติดที่ดินส่วนใหญ่จึงอัตคัดขัดสนมากเมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาของยุโรปตะวันตกในระยะเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ในช่วงทศวรรษ ๑๘๔๐ แม้จะมีการปฏิรูประบบการเงินโดยใช้มาตรฐานโลหะเงิน แต่รัสเซียก็ยังประสบกับภาวะเงินเฟ้อ ค่าของเงินรูเบิลตกลงอย่างมาก แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตการณ์นี้ได้ คนยากจนของรัสเซียจึงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ น่าสมเพชมากกว่าเดิม ในต้นทศวรรษ ๑๘๕๐ รัสเซียมีเส้นทางรถไฟรวมกันทั้งประเทศเพียง ๑,๐๕๖ กิโลเมตรเท่านั้น การส่งสินค้าออกและการขยายตัวของระบบโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้ผล ในระยะเวลาเดียวกันนี้ ซึ่งเป็นช่วงรุ่งโรจน์ของการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)* ระยะที่ ๒ ในยุโรปตะวันตกแต่ในรัสเซียคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมมีจำนวนรวมกันเพียง ๘๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ
     ในด้านการต่างประเทศ ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ทรงเข้าควบคุมการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของรัสเซีย พระองค์ทรงถือเป็นภาระหน้าที่ในการทำหน้าที่เป็น "ผู้พิทักษ์" ของประมุขที่มีสิทธิอันชอบธรรมในการปกครอง (ruling legitimists) ของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป และเป็นผู้ปราบปรามการกบฏและการปฏิวัติจนทรงได้รับสมญานามว่า "ตำรวจของยุโรป" (The Gendarme of Europe) เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม (The July Revolution)* ในฝรั่งเศสเมื่อโค่นล้มอำนาจของพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ (Charles X ค.ศ. ๑๘๒๔-๑๘๓๐)* และการปฏิวัติในเบลเยียมเพื่อแยกตัว เป็นอิสระจากเนเธอร์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๘๓๐ ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ทรงถือเป็นพระภาระกิจตามพันธสัญญาพันธไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Alliance) ที่ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ พระเชษฐาทรงจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๑๕ เพื่อให้ผู้นำประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ในฐานะกษัตริย์คริสเตียนร่วมมือกันจรรโลงสันติภาพในยุโรป อย่างไรก็ดี การเกิดการจลาจลในโปแลนด์ซึ่งเป็นดินแดนในปกครองของรัสเซียในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๓๐ ทำให้ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ต้องทรงทุ่มกองกำลังทหารเข้าไปปราบ ปรามพวกก่อกบฏและมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดใน ค.ศ. ๑๘๓๑ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๓๒ รัสเซียก็ได้นำนโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบรัสเซีย (Russification) โดยออกพระราชบัญญัติยุบรัฐสภาโปแลนด์ ยกเลิกกองทัพ และเข้าปกครองโปแลนด์อย่างเข้มงวดมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ถูกปิดและเด็กนักเรียนในชั้นมัธยม ศึกษาปลายถูกบังคับให้เรียนภาษารัสเซีย นโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบรัสเซียดังกล่าวยังถูกนำไปปฏิบัติในแคว้นเบลารุส [ปัจจุบันคือสาธารณรัฐเบลารุส (Republic of Belarus)] และแคว้นยูเครน [ปัจจุบันคือสาธารณรัฐยูเครน Republic of Ukraine)] อีกด้วย
     ในการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดการจลาจลเกือบทุกดินแดนในยุโรป ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ทรงเข้าแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ (Constitutional Government) ในแคว้นมอลเดเวีย (Moldavia) และแคว้นวัลเลเคีย (Wallachia) ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๔๙ เมื่อลายอช คอชุท (Lajos Kossuth ค.ศ. ๑๘๐๒-๑๘๙๔)* ได้นำชาวแมกยาร์ (Magyars) หรือฮังการีก่อกบฏต่อจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* พระองค์ก็ทรงส่งกองทัพรัสเซียซึ่งประกอบด้วยทหารจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ คน เข้าสมทบกับทหารออสเตรียเพื่อต่อสู้กับกองทัพฮังการี นอกจากนี้ พระองค์ยังขัดขวางราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นแห่งปรัสเซียมิให้มีบทบาทเด่นในดินแดนเยอรมัน โดยประณามพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ (Frederick William IV ค.ศ. ๑๘๔๐-๑๘๖๑)* ว่าเป็น "กษัตริย์ข้างถนน" (King of the pavement) ที่ทรงยอมอ่อนข้อให้แก่พวกปฏิวัติต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งสหภาพปรัสเซีย (Prussian Union) ที่ทำให้ปรัสเซียเป็นรัฐผู้นำของรัฐเยอรมันส่วนหนึ่งซาร์นิโคลัสที่ ๑ ก็ทรงเข้าข้างราชวงศ์ฮับสบูร์ก (Habsburg)* ในการฟื้นฟู "สถานะเดิม" (status quo) ของดินแดนเยอรมัน โดยบีบให้ปรัสเซียยอมยุบสหภาพปรัสเซียและยอมรับอำนาจผู้นำสูงสุดของออสเตรียใน สมาพันธรัฐเยอรมัน (German Cenfederation)* ในการประชุมที่เมืองโอลมึทซ์ (Olmütz) ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๕๐ อันเป็นที่มาของ "ความอัปยศแห่งเมืองโอลมึทซ์" (Humiliation of Olmütz) ส่วนภายในประเทศ แม้ว่าการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ จะไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมรัสเซีย แต่ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ก็ดำเนินนโยบายปกครองอย่างเข้มงวดกับประชาชนมากขึ้นเพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวปฏิวัติ มีการจำกัดและลดจำนวนของนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญกลายเป็นวิชาต้องห้าม นอกจากนี้ใน ค.ศ. ๑๘๔๙ "The Third Section" และตำรวจก็เข้าปราบปรามและจับกุมกลุ่มปัญญาชนที่ต่อต้านรัฐบาลขณะประชุมกันในบ้านพักของเปตราเชวิค บูตาเชวิค-เปตราเชฟสกี (Petrashevich Butashevich-Petrashevsky) ซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มเปตราเชฟสกี ในจำนวนปัญญาชนที่ถูกจับกุมดังกล่าวก็รวม เฟโอดอร์ มิไคโลวิช ดอสโตเยฟสกี (Feodor Mikhailovich Dostoyevsky ค.ศ. ๑๘๒๑-๑๘๘๑) นักเขียนวรรณกรรมแนวสัจนิยมที่มีชื่อเสียงด้วยแต่เขาและปัญญาชนอีก ๒๐ คนซึ่งได้รับโทษประหารชีวิตต่างได้รับอภัยโทษขณะที่ถูกนำตัวไปยังแดนประหาร ทั้งนี้เพื่อให้สำนึกถึงพระบารมีและพระราชอำนาจของซาร์ที่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของพสกนิกรได้
     ส่วนการดำเนินนโยบายต่างประเทศในทางตะวันออก ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ก็ทรงพยายามขยายอำนาจและอิทธิพลของรัสเซียเข้าไปในจักรวรรดิออตโตมันหรือตุรกี และทำให้ปัญหาตะวันออก (Eastern Question)* คุกรุ่นและยืดเยื้อ อีกทั้งยังดึงรัสเซียเข้าสู่สงครามด้วยสงครามรัสเซีย-ตุรกี (Russo-Turkish War ค.ศ. ๑๘๒๘-๑๘๒๙) ซึ่งสิ้นสุดลงด้วยสนธิสัญญาอะเดรียโนเปิล (Treaty of Adrianople) ทำให้รัสเซียได้รับดินแดนชายฝั่งทะเลดำและอำนาจในการควบคุมแม่น้ำดานูบ (Danube) ตลอดจนสิทธิในการพิทักษ์เซอร์เบียและราชรัฐดานูบ (Danubian Principalities) คือแคว้นมอลเดเวียและแคว้นวัลเลเคีย และพวกมุสลิมทั้งหมดต้องอพยพออกจากราชรัฐดานูบ ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๓๓ รัสเซียได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับตุรกีในสงครามตุรกี-อียิปต์ (Turkish-Egyptian War ค.ศ. ๑๘๓๒-๑๘๔๐) โดยตุรกีต้องทำสนธิสัญญาอันเกียร์สเกเลสซี (Treaty of Unkiar Skelessi) สนธิสัญญานี้ยินยอมให้รัสเซียรับบทบาทเป็นผู้พิทักษ์ตุรกีตามสนธิสัญญาอะเดรียโนเปิลรัสเซียจึงเข้าไปมีอำนาจในการควบคุมช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (Dardanells)* รวมทั้งช่องแคบบอสฟอรัส(Bosphorus)* ซึ่งเป็นเส้นทางออกจากทะเลดำไปสู่ทะเลอีเจียน (Aegean) และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ต่อมาในการประชุมว่าด้วยปัญหาช่องแคบ (The Straits Convention) ณ กรุงลอนดอนในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๑ หลังจากสงครามยุติลง รัสเซียถูกประเทศมหาอำนาจซึ่งมีอังกฤษเป็นผู้นำบีบบังคับให้รัสเซียและตุรกียกเลิกสนธิสัญญาอันเกียร์สเกเลสซี ซึ่งเท่ากับรัสเซียต้องยุติบทบาทและการแทรกแซงในตุรกี
     อย่างไรก็ดี ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ก็มิได้ทรงยอมล้มเลิกนโยบายการแผ่อำนาจเข้าไปในจักรวรรดิออตโตมันเพื่อมีอำนาจเหนือช่องแคบบอสฟอรัสและดาร์ดะแนส์ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ อีกทั้งไม่ต้องการให้ประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ เข้าไปมีบทบาทในจักรวรรดิออตโตมันด้วย ดังนั้น ใน ค.ศ. ๑๘๕๒ เมื่อฝรั่งเศสบีบคั้นให้รัฐบาลตุรกีลงนามในสนธิสัญญายินยอมให้สิทธิพิเศษแก่ตนในการเข้าคุ้มครองคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (Holy Land) ที่อยู่ในปกครองของตุรกี รัสเซียจึงไม่พอใจเพราะเห็นว่าสิทธิที่ฝรั่งเศสเรียกร้องนี้เป็นการซ้ำซ้อนกับสนธิสัญญากูชุกไกนาร์จี (Kuchuk Kainarji) ที่ให้รัสเซียดูแลคริสต์ศาสนิกชนนิกายกรีกออร์ทอดอกซ์ในดินแดนตุรกีตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๗๔ ในรัชสมัยซารินาคาเทอรีนมหาราช ดังนั้น ซาร์นิโคลัสที่ ๑ จึงทรงพยายามบีบบังคับให้ตุรกียกเลิกสนธิสัญญาดังกล่าวกับฝรั่งเศส แต่ตุรกีปฏิเสธเพราะถือเป็นการล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตยของตน รัสเซียกับตุรกีจึงเข้าสู่สงครามกันอีกในสงครามไครเมีย ( ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๖)
     ในระยะแรกของสงคราม ตุรกีรบกับรัสเซียแต่เพียงลำพังและได้รับความเสียหายอย่างย่อยยับ ต่อมามหาอำนาจของยุโรปคืออังกฤษและฝรั่งเศสได้เข้ากับฝ่ายตุรกีและสามารถโจมตีกองทัพรัสเซียจนพ่ายแพ้ในยุทธการสำคัญ ๆ ในปลายสงคราม ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ประชวรด้วยไข้หวัดในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๕๕ แต่ก็มิทรงยินยอมที่จะพักผ่อนและเสด็จไปทอดพระเนตรการเดินสวนสนามของเหล่าทหารในวันที่อากาศหนาวเหน็บ ซึ่งเป็นกิจกรรมทหารที่ทหารต้องปฏิบัติเป็นกิจวัตรอย่างเคร่งครัด พระองค์จึงทรงประชวรด้วยโรคพระปัปผาสะบวมและเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๒๕ (ปฏิทินสากลคือวันที่ ๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๒๕) สิริพระชนมายุ ๕๙ พรรษา ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๖ ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (Alexander II ค.ศ. ๑๘๕๕-๑๘๘๐) พระราชโอรสก็ทรงยินยอมยุติสงครามกองทัพรัสเซียได้รับความเสียหายอย่างมาก มีทหารจำนวน ๑๑๐,๐๐๐ คนเสียชีวิตซึ่งมากกว่าจำนวนทหารของฝ่ายตรงข้ามรวมกันทั้งหมด.


ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ทรงสนพระทัยในกิจกรรมการสวนสนามของทหารมาก และจัดให้มีพิธีสวนสนามตลอดเวลา เพราะทรงถือว่าการมีระเบียบ วินัยของทหารที่ สะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมในการสวนสนามเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง "รัฐวินัย" แต่ในด้านการเสริมสร้างประสิทธิภาพ ให้แก่กองทัพและการปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัยนั้นไม่อยู่ในความสนพระทัยของพระองค์ความพ่ายแพ้ของรัสเซียในสงคราม ไครเมียจึงเป็นภาพสะท้อนของนโยบายและการบริหารประเทศของพระองค์ในรัชสมัยซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ รัสเซียจึงหันไปปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยและมีการปฏิรูปกองทัพให้มีมาตรฐานและประสิทธิภาพขึ้น

คำตั้ง
Nicholas I
คำเทียบ
ซาร์นิโคลัสที่ ๑
คำสำคัญ
- สนธิสัญญาอะเดรียโนเปิล
- สนธิสัญญากูชุกไกนาร์จี
- สงครามรัสเซีย-ตุรกี
- บอสพอรัส, ช่องแคบ
- ปัญหาตะวันออก
- สงครามตุรกี-อียิปต์
- ดินแดนศักดิ์สิทธิ์
- ดานูบ, แม่น้ำ
- ดานูบ, ราชรัฐ
- ดาร์ดะเนลส์, ช่องแคบ
- การประชุมว่าด้วยปัญหาช่องแคบ
- ฮับส์บูร์ก, ราชวงศ์
- โอลมึทซ์, เมือง
- สหภาพปรัสเซีย
- ออสเตรีย, จักรวรรดิ
- วัลเลเคีย, แคว้น
- ยูเครน, สาธารณรัฐ
- เยอรมัน, สมาพันธรัฐ
- กบฏเดือนธันวาคม
- แคเทอรีนมหาราช, ซารีนา
- ซาร์สโกเอเซโล, พระราชวัง
- โซเฟีย โดโรเทียแห่งเวือร์ทเทมแบร์ก, เจ้าหญิง
- นิโคลัส ปัฟโลวิช โรมานอฟ, แกรนด์ดุ๊ก
- นิโคลัสที่ ๑, ซาร์
- ปอล, ซาร์
- มาเรีย เฟโอโดรอฟนา, ซารีนา
- ออตโตมัน, จักรวรรดิ
- สงครามไครเมีย
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- คอนสแตนติน, แกรนด์ดุ๊ก
- คูร์ลันด์, มณฑล
- ชาร์ลอตต์, เจ้าหญิง
- นโปเลียนที่ ๑, จักรพรรดิ
- เฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๒, พระเจ้า
- เฟโอรอฟนา, อะเล็กซานดรา
- ลัมบ์สดอร์ฟ, เคานต์เอ็ม. ไอ. ฟอน
- สมัยร้อยวัน
- สงครามนโปเลียน
- อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑, ซาร์
- อะเล็กซานเดอร์, แกรนด์ดุ๊ก
- อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒, ซาร์
- โฮเฮนซอลเลิร์น, ราชวงศ์
- ซีเนต, จตุรัส
- พระราชกฤษฎีกา ค.ศ. ๑๗๙๗
- สมาคมร่วมชาวสลาฟ
- สมาคมเหนือ
- เบนซ์เคนดอร์ฟ, เคานต์
- นารอดนิค
- ไมเคิล, แกรนด์ดุ๊ก
- มีลอร์โดวิช, เคานต์ เอ็ม. เอ.
- เฮอร์เซน, อะเล็กซานเดอร์ อีวาโนวิช
- การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- สนธิสัญญาอันเกียร์สเกเลสซี
- การปฏิวัติอุตสาหกรรม
- อูนารอฟ, เคานต์เอส. เอส.
- คอชุท, ลายอช
- ชาร์ลที่ ๑๐, พระเจ้า
- ดอสโตเยฟสกี, เฟโอดอร์ มิไคโลวิช
- นโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบรัสเซีย
- บูตาเชวิค-เปตราเชฟสกี, เปตราเชวิค
- พันธสัญญาพันธไมตรีอันศักดิ์สิทธิ์
- เบลารุส, สาธารณรัฐ
- เฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔, พระเจ้า
- มอลเดเวีย, แคว้น
- แมกยาร์, ชาว
- อีเจียน, ทะเล
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1796-1855
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๓๙-๒๓๙๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf